ศุลกากรแหลมฉบัง - ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวการตรวจจับวัสดุกัมมันตรังสีผิดกฎหมาย - วิถีชุมชนคนสร้างเมือง

Post Top Ad

Responsive Ads Here

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ศุลกากรแหลมฉบัง - ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวการตรวจจับวัสดุกัมมันตรังสีผิดกฎหมาย


   เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 พ.ย.61 ที่ ห้องประชุมอาคารสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมดัวตัวแทนจาก ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.), สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.), สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และ สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจจับวัสดุกัมมันตรังสีผิดกฎหมาย ซึ่งศุลกากรได้ตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าเพื่อส่งออกประเทศปลายทางอินเดีย ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ปส. โดยละเอียดพบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม - 137 (Cs-137) น้ำหนักประมาณ 200 กรัม และ เจ้าหน้าที่ สทน. ได้ทำการเก็บกู้ซีเซียม-137 ซึ่งกำกับดูแลความปลอดภัยโดย ปส. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป


ตามที่กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญกับนโยบายปราบปรามการหลีกเลี่ยง ข้อห้าม ข้อกำกัด เพื่อปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร จึงสั่งการให้ นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร มอบหมายให้ นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เข้มงวดในการสกัดกั้นและปราบปรามการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมายเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประเทศไทยและประชาคมโลก


โครงการ Megaports Initiative (MI) ภายใต้การดำเนินการของศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการตรวจจับและสกัดกั้นการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมาย โดยศุลกากรได้ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าหมายเลข INLU2105838 ตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ A018-1610906119 สำแดงสินค้าประเภทเศษอลูมิเนียม น้ำหนัก 26,340 KGM ประเทศปลายทางอินเดีย โดยตู้สินค้าดังกล่าวผ่านการตรวจสอบโดยอุปกรณ์ Radiation Portal Monitor (RPM) พบการแผ่รังสีเกินกว่าค่ามาตรฐาน จึงต้องนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าวมาตรวจสอบยังสถานีตรวจสอบขั้นที่ 2


จากการตรวจสอบสารกัมมันตรังสีโดยอุปกรณ์ Spectroscopic Portal Monitor (SPM) ณ สถานีตรวจสอบขั้นที่ 2 พบการแผ่รังสีของ ซีเซียม- 137 (Cs-137) และได้ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดกัมมันตรังสีแบบมือถือ เพื่อยืนยันผลการตรวจสอบในตู้สินค้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยได้ทำการประสานงานกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และปฏิบัติตามคำแนะนำโดยนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าว ไปอายัดไว้บริเวณ Safety Zone จากนั้นได้ดำเนินการแจ้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทราบถึงการตรวจพบ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง, สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล กรมเจ้าท่า ผู้ส่งออก และท่าเรือ B4


สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และผู้ส่งออก ได้มีการประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางในการดำเนินการตรวจสอบทางกายภาพและคัดแยกวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าว ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้นำเสนอแผนการดำเนินการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อคัดแยกวัสดุปนเปื้อนให้กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงแผนการดำเนินการกับตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าว


โดยในวันตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้ทำการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมในการตรวจสอบเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และจากการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ตรวจพบ วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม – 137 (Cs-137) น้ำหนักประมาณ 200 กรัม โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ส่งมอบให้ สทน. เก็บรักษาเพื่อความปลอดภัยและได้ดำเนินการเก็บกู้และคัดแยก เป็นที่เรียบร้อย โดยได้มีการตรวจวัดรังสีในพื้นที่ปฏิบัติงาน และพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง ไม่มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด


นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการ Megaports Initiative (MI) ในปี พ.ศ. 2554 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการสกัดกั้นการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมีการตรวจพบการกระทำความผิด และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายสำหรับการผลักดันในกรณีที่ศุลกากรตรวจพบวัสดุปนเปื้อนกัมมันตรังสีกลับประเทศต้นทางแล้วจำนวน 19 กรณี ซึ่งกรณีที่ตรวจพบข้างต้นนี้ เป็นการพยายามส่งออกซึ่งวัสดุกัมมันตรังสีโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดตามมาตรา 202 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และมาตรา 76 ประกอบมาตรา 78 และ 79 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ดังนั้น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จึงจะทำการสอบสวนข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ และมอบหมายให้สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here